Covid 19 ระยะฟักตัวโควิดคืออะไร? มีคนจำนวนมากที่ติดโควิด 19 หรือได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) สายพันธุ์โอมิครอน แล้วแสดงอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่มีอาการเลย หลายคนจึงไม่ค่อยแน่ใจว่า หลังหายป่วยแล้ว เชื้อไวรัสชนิดนี้จะยังหลงเหลือในร่างกายอยู่ไหม แล้วจะแพร่ต่อไปให้คนอื่นได้อีกหรือเปล่า ใครสงสัย ลองมาอ่านข้อมูลต่อไปนี้ค่ะ

ระยะฟักตัวโควิดคืออะไร?
ระยะฟักตัวโควิด (Incubation period) คือ ช่วงเวลาหลังจากสัมผัสหรือรับเชื้อไวรัสจนถึงช่วงที่เริ่มมีอาการ ซึ่งผู้ชำนาญการทางการแพทย์ใช้จำนวนวันของระยะฟักตัวโควิดในการแนะนำว่าควรกักตัวนานแค่ไหนเพื่อดูอาการ

ผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมากมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่อาจค่อยๆ เป็นมากขึ้นในไม่กี่วัน โดยอาการที่พบบ่อยสำหรับผู้ติดโควิด อาจมีดังนี้

-มีไข้
-ไอแห้ง
-เจ็บคอ
-รู้สึกอ่อนเพลีย
-ลิ้นไม่ได้รับรส
-จมูกไม่ได้กลิ่น
-คัดจมูก
-ตาแดง
-ปวดหัว
-ปวดกล้ามเนื้อ
-ท้องเสีย
-หายใจลำบาก
-ไม่อยากอาหาร
-เจ็บหน้าอก

อย่างไรก็ตาม อาการแสดงในแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป และอาจไม่ได้มีอาการดังกล่าวครบทุกอาการ ดังนั้นหากผ่านพื้นที่เสี่ยง หรือมีอาการดังกล่าว ควรกักตัวอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

นอกจากนี้แม้จะหายจากโควิด-19 แล้ว ก็ยังอาจมีความผิดปกติบางอย่างหลงเหลืออยู่ได้ เช่น กลุ่มอาการ MIS-C ที่เริ่มมีหลายคนพบความสัมพันธ์ว่าเด็กหายจากโควิดอาจมีโอกาสเป็นมากขึ้น ดังนั้นการป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะยังไม่ติด เคยติดแล้ว หรือรับวัคซีนโควิดแล้วก็ตาม

ระยะฟักตัวสามารถแพร่เชื้อ “ได้” โดยเชื้ออาจแพร่กระจายสู่คนอื่นได้ 2-3 วันก่อนที่จะแสดงอาการ และช่วงที่อาจกระจายเชื้อได้มากที่สุดคือ 1-2 วันก่อนที่จะมีอาการ

แต่ระยะฟักตัวโควิดของผู้ติดเชื้อแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไปได้ตั้งแต่ 2-14 วัน หรือบางคนอาจไม่แสดงอาการใดๆ เลยระหว่างที่ติดเชื้อ ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายตั้งแต่สัมผัสเชื้อทันที

ใครที่หายป่วย คือพ้น 14 วันแล้ว ถ้าลองตรวจ RT-PCR ยังอาจมีผลบวกอยู่ก็ได้ค่ะ เพราะมีซากเชื้อ หรือจุลชีพที่ถูกร่างกายทำลายจนหมดฤทธิ์แล้วหลงเหลืออยู่ แต่ตรงนี้ก็วางใจได้ว่าซากเชื้อนี้ไม่สามารถเพาะเชื้อและแพร่เชื้อได้อีกแล้ว

ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ว่าเชื้อจะหมดไปจากร่างกายเสียทีเดียว เพราะผลพวงจากการติดไวรัสชนิดนี้ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพไปได้อีกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือในบางคนอาจลากยาวไปจนถึง 9 เดือน

โดยข้อมูลจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH) พบว่า เชื้อโควิด 19 ที่เข้าสู่ร่างกายไม่ได้อยู่แค่ในระบบทางเดินหายใจ แต่ยังสามารถแบ่งตัวในเซลล์มนุษย์ส่วนอื่น ๆ และแพร่กระจายไปยังหัวใจ สมอง และเกือบทุกระบบของร่างกายภายในไม่กี่วันหลังจากติดเชื้อ

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่หายป่วยจากโควิดแล้ว ยังต้องเผชิญกับภาวะลองโควิด (Long Covid) หรืออาการคงค้างหลังหายป่วย ในหลายระบบของร่างกาย แม้ว่าตอนที่ป่วยโควิดอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลยก็ตาม